วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552

เรียนภาษาจีน



อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ทำให้นาทีนี้ การส่งลูกเรียนภาษาจีน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปในหมู่พ่อแม่ไทย ล่าสุด ลัดฟ้าข้ามทวีปไปไกลถึงเมืองลุงแซม "หนีห่าว" ก็กำลังฮิตเหมือนกัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หนูน้อย แพมมีย์ โบเนปาร์ธ มีตารางเรียนเสริมและเล่นกีฬาแน่นเอี้ยดอยู่แล้ว ตอนที่ตัดสินใจเรียนภาษาจีนกลางเพิ่มในปีการศึกษานี้ ส่งผลให้เธอต้องตื่นเช้ากว่าเดิม 1 ชั่วโมง เพื่อฝึกฝนคำศัพท์ตอน 8 โมงเช้า และทำการบ้านพิเศษตอนกลางคืน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพมมีย์ตัดสินใจเรียนภาษาจีนกลางเพิ่มเติม เพราะพ่อ ปีเตอร์ โบเนปาร์ธ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโจนส์ แอปพาเรล ที่ทำรายได้ปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ คะยั้นคะยอให้เธอไปเรียนภาษาจีนกลาง เพราะเล็งเห็นความได้เปรียบในเศรษฐกิจโลกยุคที่จีนเริ่มมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ โบเนปาร์ธตั้งใจว่า เขาจะพาแพมมีย์ติดสอยห้อยตามไปติดต่อธุรกิจในจีนครั้งต่อไป
"หนูพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ค่ะ" แพมมีย์สัญญา


ปัจจุบัน ชาวอเมริกันจำนวนมากพากันเห่อกระแส 'จีน ฟีเวอร์' แต่พวกที่รับบทหนักคือลูกๆ ของบรรดาผู้บริหารที่เล็งเห็นความสำคัญของภาษาจีนกลาง เด็กฐานะดีกลุ่มนี้ ต้องเผชิญความอัดอั้นตันใจกับความยากของบทเรียน บ้างก็สงสัยว่าเรียนภาษาฝรั่งเศสจะง่ายกว่าหรือไม่ หรือไม่ก็บ่นว่าไม่มีคู่ไว้ฝึกใช้ภาษาจีนกลางโต้ตอบกัน

เจย์ บีตตีย์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของนิว ฮาร์เบอร์ วาณิชธนกิจสหรัฐ เป็นอีกรายที่ตัดสินใจส่งลูกชาย แมธธิว ไปเรียนภาษาจีนกลางตั้งแต่ 6 ขวบ โดยให้ไอศกรีมวานิลลาเป็นรางวัล ปัจจุบันแมธธิวอายุ 11 ปีแล้ว และสามารถพูดภาษาจีนได้มากกว่า 50 คำ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยคืบหน้ามากนักในการเขียนอักษรจีนที่ต้องขีดเส้นต่างๆ ซับซ้อน


"เขียนอักษรจีนยากมาก แต่ตอนนี้ผมเริ่มทำความเข้าใจได้แล้ว และทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ" แมธธิวพูดอย่างมุ่งมั่น

ส่วน อิลานา ไดอะมอนด์ ผู้บริหารหญิงของบริษัทซิมา โปรดักส์ ผู้ผลิตโฮมเธียเตอร์และอุปกรณ์เกี่ยวกับภาพดิจิทัลในรัฐเพนซิลเวเนีย พยายามชักชวนให้ลูกสาววัย 10 ขวบ ไมอา โรเซนเฟลด์ กลับเข้าชั้นเรียนภาษาจีนกลางสัปดาห์ละ 2 ครั้งที่โรงเรียนสอนพิเศษอีกครั้ง หลังจากไมอาตัดสินใจเลิกเรียนเมื่อปีที่แล้ว โดยบ่นกับแม่ว่าเธอไม่รู้วิธีดำเนินบทสนทนาภาษาจีน แถมไม่รู้จะฝึกพูดกับใคร เพราะเธอเป็นคนเดียวในบ้านที่เรียนภาษาจีนกลาง

"ฉันพยายามย้ำกับลูกว่า แค่ได้ยินภาษาต่างประเทศช่วงอายุประมาณนี้ และคุ้นเคยกับเสียงของภาษาก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ" ไดอะมอนด์บอก

ผู้บริหารอเมริกันจำนวนมากมองว่า การส่งลูกเรียนภาษาจีนกลางนั้น ย้ำให้เห็นว่า การเข้าถึงตลาดจีนมีความสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท บางคนกลัวว่าตัวเองจะเสียโอกาสทางธุรกิจเพราะไม่สามารถพูดคุยกับลูกค้าจีนได้

ด้าน จอห์น แอล. ธอร์นตัน อดีตประธานของโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิงหัว พาลูกชาย จอห์น แรนดอลฟ์ ไปกรุงปักกิ่งด้วยกัน 1 เดือนเมื่อปี 2548 ก่อนที่จอห์นจะกลับไปปักกิ่งในปีต่อมาเพื่อลงเรียนภาษาจีนกลางนาน 1 ปี

"วิธีเดียวที่จะเข้าใจจีนและความซับซ้อนของจีน คือการอยู่ที่นั่น ศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งรู้จักจีนท่ามกลางสภาพแวดล้อมจริง" ธอร์นตันอธิบาย

หนุ่มน้อยอีกราย มาร์ก ไฟรค์แมน ซึ่งเตรียมพร้อมเข้าเรียนมัธยมปลายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนแรกเขาตั้งใจจะเลือกภาษาสเปนเป็นวิชาเลือก เพราะเคยบ่มเพาะภาษาสเปนมา 9 ปีแล้ว แต่ คาร์ล ไฟรค์แมน บิดาผู้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเนชั่นแนล พูล ไทล์ กรุ๊ป ซึ่งเดินทางเยี่ยมซัพพลายเออร์ที่จีนปีละ 1 ครั้งติดต่อกันมาหลายปี แนะนำให้ลูกชายเรียนจีนกลางเพราะเชื่อว่าเป็น 'ภาษาแห่งธุรกิจ'

มาร์กตัดสินใจเริ่มเรียนจีนกลางตามที่พ่อแนะนำ แต่ทุกอย่างดูติดขัดไปหมดในช่วง 2 ปีแรก เขาเปิดตำราอักษรจีนอย่างลวกๆ มองเห็นประโยคเป็นภาพเลือนรางที่ไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ ขนาดลงทุนแขวนแผนที่ประเทศจีนไว้ในห้อง และแอบหวังว่าบทเรียนต่างๆ จะซึมเข้าสู่สมองเองโดยอัตโนมัติ

"ผมไม่ได้เรียนรู้มากมายเท่าที่ควร ไม่มีอะไรซึมซับเข้าหัวเพราะผมไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาจีนกลางนอกจากชั้นเรียน"

แต่แล้วในปีแรกของชั้นม.ปลาย มาร์กได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักเรียนที่โรงเรียนส่งไปศึกษาที่ปักกิ่ง หนุ่มน้อยวัย 18 ปีมีชีวิตรื่นรมย์กับการว่ายน้ำในช่วงบ่าย ขี่จักรยานคันเก่าไปโรงเรียน และอิ่มอร่อยกับน้ำซุปกระดูกหมูร่วมกับครอบครัวผู้อุปถัมภ์ในจีน และฝึกพูดจีนกลางในชั้นเรียนมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

มาร์กเล่าต่อว่า ชีวิตเดือนแรกในแดนมังกรถือเป็นช่วงยากลำบากมาก แต่ภาษาจีนกลางก็เริ่มแล่นเข้าสู่สมองภายในเวลาอันรวดเร็ว หนุ่มน้อยรู้ภาษาจีนหลายร้อยคำตอนที่เดินทางกลับสหรัฐ และประสบการณ์ครั้งนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ความนิยมของภาษาจีนกลางในสหรัฐ สะท้อนให้เห็นจากการให้ทุนของรัฐบาลกลางเพื่อศึกษาภาษาต่างประเทศในโรงเรียนท้องถิ่นสหรัฐ โดยกว่าครึ่งหนึ่งของทุนใหม่ราว 70 ทุน ได้รวมโครงการภาษาจีนกลางเข้าไปด้วย

ความนิยมในภาษาจีนยังไปไกลถึงนอกรั้วโรงเรียน ไมเคิล เลวีน รองประธานสมาคมเอเชีย โซไซตี้ เล่าว่า สมาคมของเขาได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารที่ต้องการสอบถามหาพี่เลี้ยงชาวจีนมาดูแลลูกถึงสัปดาห์ละ 5 ครั้ง

หนึ่งในนั้น จิม โรเจอร์ส ผู้คร่ำหวอดในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และผู้ก่อตั้งกองทุนควอนตัม ร่วมกับจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุน ได้ลงโฆษณาหาพี่เลี้ยงชาวจีนในหนังสือพิมพ์ เพื่อมาดูแลลูกน้อยวัย 3 ขวบ โดยให้เพื่อนที่พูดภาษาจีนกลางได้มาช่วยคัดเลือกใบสมัคร เพื่อดูว่าพี่เลี้ยงพูดภาษาจีนกลางได้อย่างไร้ที่ติหรือไม่ แถมยังเป็นเจ้าภาพจัดกลุ่มให้เด็กที่เรียนภาษาจีนมาเล่นกันเองช่วงสุดสัปดาห์อีกด้วย

กระแสนิยมที่ผู้บริหารส่งลูกเรียนภาษาจีนกลางครั้งนี้ คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งภาษาญี่ปุ่นได้รับความนิยมในช่วงที่เศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยเฟื่องฟูในทศวรรษ 80 ขณะที่ภาษารัสเซียและสเปนก็กำลังมาแรงในสหรัฐไม่ใช่น้อย แต่การที่มูลค่าส่งออกของสหรัฐไปยังจีนเพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้ว บวกกับการที่ชาวอเมริกันไปอาศัยในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาษาจีนกลางยังนำโด่งภาษาอื่นๆ อยู่หลายช่วงตัว

อย่างไรก็ดี บางคนยังไม่ปักใจเชื่อว่า ภาษาจีนกลางจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จทางการเงินในอนาคต

"คุณไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาจีนเป็น 10 ปี สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าพวกเขาต้องการสิ่งที่คุณมี พวกเขาจะหาใครสักคนมาเป็นล่ามเอง" พอล อาร์เจนติ ศาสตราจารย์ประจำทัค สคูล ออฟ บิซิเนส มหาวิทยาลัยดาร์ตเมาธ์ ว่าอย่างนั้น แถมตบท้ายอีกด้วยว่า เขาเอง เรียนภาษาญี่ปุ่นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนความพยายามของเขาจะมีประโยชน์น้อยมากในระยะยาว ดังนั้นเขาเลยตัดสินใจส่งลูกเรียนภาษาละตินแทน

....................................

(หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เอเชีย)

วิโรจน์ ภัทรทีปกร

เครดิต โดย http://www.bangkokbiznews.com/2007/04/23/WW06_0611_news.php?newsid=65110

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 มกราคม 2552 เวลา 19:53

    จากที่ได้อ่านบทความ

    สะท้อนให้เห็นว่าภาษาจีน

    นั้นเป็นภาษาที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2552 เวลา 08:28

    ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ