วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ภาษาจีนในประเทศไทย

สารพันปัญหาการเรียน "ภาษาจีน" ในไทย

จีนประเทศมหาอำนาจของโลก มีอิทธิพลต่ออนาคตระบบเศรษฐกิจโลก เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และมีบทบาทในการต่อรองมากขึ้น ดังนั้นความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษาจีนจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจาการค้าในอนาคตได้ ส่งผลให้ตลาดของการเรียนรู้ "ภาษาจีน" ในเมืองไทยบานสะพรั่ง แต่ไร้ระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน

ผศ.ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาจีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพกระแสเห่อเรียนภาษาจีนของคนไทย ไว้ในงานสัมมนาเรื่อง "ปัญหาการเรียนภาษาจีนในประเทศไทย" ว่า รัฐบาลในอดีตเคยปิดกั้นการเรียนรู้ภาษาจีน กระทั่ง ค.ศ. 1992 รัฐบาลเปิดเสรีทางการศึกษา ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากตามศูนย์การค้า หรือแหล่งชุมชนทั่วไปล้วนเปิดสอนภาษาจีน จนเข้าสู่ยุคการแข่งขัน เฉพาะในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีโรงเรียนสอนภาษาจีนไม่น้อยกว่า 114 แห่งทั่วประเทศ และกว่า 24 แห่งตั้งในเขตกรุงเทพฯ ไม่นับรวมในสังกัด กทม. และศูนย์ภาษาและสถาบันภาษาจีนที่ผุดขึ้นไม่น้อยกว่า 30 แห่ง ในกรุงเทพฯ โดยแต่ละศูนย์ยังมีสาขาอีก 7-8 สาขาทั่วประเทศ และในระดับอุดมศึกษามีการตื่นตัวไม่น้อย มีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดหลักสูตรสอนภาษาจีน ในลักษณะวิชาเอก โท หรือวิชาเลือกเสรีจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่บรรจุในหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์

"หลักสูตรภาษาจีนในไทยยังไม่มีระบบการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ที่เป็นระบบกลาง ทำให้เกิดปัญหา ภาครัฐยังไม่ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหลักสูตรที่ขาดความต่อเนื่องในแต่ละระดับการศึกษา เพราะทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา มักจะเริ่มสอนที่หลักสูตรระดับพื้นฐานเหมือนกัน ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน จึงเกิดปัญหาบัณฑิตที่จบหลักสูตรยังมีความรู้ไม่มากพอ" ผอ.ก่อศักดิ์ ชี้จุดอ่อนระบบการเรียนรู้ภาษาจีนของไทย

ขณะที่ ดร.นริศ วศินานนท์ อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ยังมองเห็นปัญหาอีกหลายด้านของการเรียนภาษาจีนในประเทศไทย ทั้งปัญหาขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา เพราะไม่ใช่ว่าคนจีนทุกคนจะเป็นครูผู้สอนได้ ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดให้การเปิดหลักสูตรใหม่ จะต้องมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกในสาขานั้นๆ ไม่น้อยกว่า 3 คน และผู้บริหารหลักสูตรต้องมีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป

"วิชาภาษาจีนถือเป็นเรื่องใหม่ของไทย ยังไม่มีการผลิตบุคลากรได้มากพอ อาจารย์ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศตามโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ และกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้รับทุนจากรัฐบาล แต่เป็นเพียงส่วนน้อยส่วนอาจารย์สถาบันภาษาและศูนย์ภาษา ก็มักไม่ได้จบด้านครุศาสตร์มาโดยตรง ไม่มีประสบการณ์การสอน และไม่มีความรู้วิชาชีพของครู" ดร.นริศ ชี้ปูมหลังครูสอนภาษาจีนในไทย

ดร.นริศ ยังเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามามีบทบาทในการดูแลการเรียนการสอนภาษาจีน โดยรัฐบาลควรจัดทำหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัย รูปแบบการใช้ภาษาที่เปลี่ยนไป และเกิดความต่อเนื่อง เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกันตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา สามารถวัดและประเมินมาตรฐานได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งบัณฑิตที่มีคุณลักษณะพร้อมจะทำงานได้ทันที

ด้วยภาษาจีนกำลังกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเปิดประตูสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งเป็นตัวเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา ดังนั้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในด้านภาษาจีนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนทางการศึกษา ที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องถือเป็นภารกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันพัฒนาเพื่อยกระดับบัณฑิตหลักสูตรภาษาจีนในประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เครดิต โดย http://www.china2learn.com/board/show.php?qID=12199

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ภาษาจีนกลาง

ภาษาจีนกลาง ใช้เรียกคำต่าง ๆ ในภาษาจีน ที่ใช้เรียกประเภทของภาษาพูดจีนที่สัมพันธ์กัน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Mandarin"

ในวงแคบ คำว่า ภาษาจีนกลาง ใช้เรียก ผู่ตงฮั่ว (普通话/普通話) และ กั่วอวี่ (国语/國語) ซึ่งเป็นภาษาพูดมาตรฐานที่เกือบจะเหมือนกัน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากภาษาพูดที่ใช้กว้างขวาง คือ Beifanghua เป่ยฟางฮั่ว ซึ่งความหมายในวงแคบนี้ คือความหมายที่ใช้ในบริบทนอกวิชาการ

ในวงกว้าง คำว่า ภาษาจีน ใช้เรียก เป่ยฟางฮั่ว ("ภาษาพูดทางเหนือ") ซึ่งเป็นประเภทที่ประกอบด้วยภาษาย่อยต่าง ๆ ของภาษาจีนที่ใช้ในทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งความหมายนี้มักจะพบในบริบททางวิชาการ และจะใช้ความหมายนี้ในบทความนี้ โดยที่ผู่ตงฮั่วและกั๋วอวี่ จะใช้ชื่อจีนเรียก รวมถึงใช้ "ภาษาจีนกลางมาตรฐาน" และ "ภาษาจีนมาตรฐาน" เรียกภาษาประเภทเป่ยฟางฮั่วมีคนพูดมากกว่าภาษาอื่น ๆ และเป่ยฟางฮั่วก็เป็นพื้นฐานของผู่ตงฮั่วและกั่วอวี่ด้วย อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า เป่ยฟางฮั่วครอบคลุมภาษาย่อยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าใจกันได้ นอกจากนี้ แนวคิดเป่ยฟางฮั่วส่วนใหญ่ ไม่ใช้นอกวงการวิชาการเป็นคำที่ใช้อธิบายตัวเอง เมื่อให้อธิบายชนิดของภาษาพูดที่ใช้ คนจีนที่พูดชนิดของเป่ยฟางฮั่วจะอธิบายตามชนิดของภาษาที่ใช้ เช่น ภาษาเสฉวนหรือภาษาจีนตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวจีนมักจะถือชนิดของภาษาจีนกลางที่พูด เป็นส่วนหนึ่งของการระบุมณฑลที่อายอยู่ อย่างไรก็ดี แทบจะไม่มีอะไรที่สามารถระบุได้โดยทั่วไป เกี่ยวกับแนวคิดของภาษาพูดทางเหนือเหมือนกับภาษาอื่นๆ การจัดภาษาจีนกลางเป็นภาษาเดียวหรือเป็นภาษาย่อย ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

หมายเหตุ: ภาษาจีนกลางชนิดที่เป็นมาตรฐานเรียกว่า ผู่ตงฮั่ว (Putonghua, 普通话) และ กั๋วอวี่ (Guoyu, 國語) แต่มักจะเรียกรวม ๆ ในภาษาอังกฤษว่า Mandarin

เครดิต โดย วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ภาษาถิ่นของจีน

ความที่จีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และเป็นแหล่งรวมประชากรหนาแน่นแห่งหนึ่งในโลก ประเทศจีนจึงมีความหลากหลายทางภาษาและศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ ภาษาถิ่นที่สำคัญในประเทศจีนก็มีมากถึง 8 สำเนียง คนไทยอาจคุ้นเคยกับภาษาจีนของชนชาติต่างๆมาบ้างแล้ว อาทิ ภาษาจีนสำเนียงคนจีนแคะ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฯลฯ

ถึงแม้ว่า รัฐบาลจะได้มีการกำหนดการใช้ภาษาจีนกลางหรือ ผู่ทงฮว่า ( 普通话) เป็นภาษาทางการที่ใช้ในแผ่นดินใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวอักษรจีนแบบมาตรฐานเดียวกันก็ยังมีการออกเสียงต่างกันไปตามถิ่นต่างๆหรือมีภาษาพูดสำเนียงต่างกัน ดังนี้

1. ภาษาถิ่นทางภาคเหนือ (北方方言) มีภาษาปักกิ่งเป็นหลัก นิยมพูดในกลุ่มคนที่อาศัยตามริมฝั่งน้ำทางตอนเหนือของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) และเจิ้นเจียงขึ้นไป และจิ่วเจียงทางตอนล่าง ซื่อชวน(เสฉวน) หยุนหนัน กุ้ยโจว และทางตะวันตกเฉียงเหนือของหูเป่ย หูหนัน นอกจากนี้ยังรวมถึงทางตอนเหนือของกว่างซี (กวางสี) ทั่วประเทศจีนมีชาวจีนที่ใช้ภาษาถิ่นนี้จำนวนสูงถึง 70% ขึ้นไป

2. ภาษาถิ่นแถบเซี่ยงไฮ้-เจียงซู-เจ้อเจียง (吴方言) มีภาษาเซี่ยงไฮ้เป็นหลัก นิยมทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง ในมณฑลเจียงซู และทางตะวันออกของเจิ้นเจียง (ไม่รวมตัวเมืองเจิ้นเจียง) และมณฑลเจ้อเจียงเกือบทั้งหมด ชาวจีนที่ใช้ภาษานี้จำนวน 8.4% โดยประมาณ

3. ภาษาถิ่นแถบหูหนัน (湘方言) มีภาษาฉางซาเป็นหลัก นิยมทางแถบมณฑลหูหนัน ประมาณว่ามีชาวจีนที่ใช้ภาษานี้ราว 5%

4. ภาษาถิ่นแถบเจียงซี (赣方言) มีภาษาหนันชังเป็นหลัก นิยมทางแถบมณฑลเจียงซี (ยกเว้นตามริมน้ำทางตะวันออกและตอนใต้) และทางตะวันออกเฉียงใต้ของหูเป่ย มีชาวจีนจำนวน 2 .4 % โดยประมาณที่พูดภาษาถิ่นแถบเจียงซีนี้

5. ภาษาถิ่นแคะ (客家方言) มีภาษาถิ่นอำเภอเหมยเซี่ยนเป็นหลัก นิยมทางแถบตะวันออก ตอนใต้และตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง แถบตะวันออกเฉียงใต้ของกว่างซี ฝั่งตะวันตกของมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และตอนใต้ของมณฑลเจียงซี รวมถึงบางแห่งในหูหนันและซื่อชวน ประมาณว่ามีชาวจีนที่ใช้ภาษานี้อยู่ 5%

6. ภาษาถิ่นฮกเกี้ยนเหนือ (闽北方言) มีภาษาฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เป็นหลัก นิยมทางแถบเหนือของมณฑลฝูเจี้ยน และที่ไต้หวัน ชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนบางส่วนก็ใช้ภาษาถิ่นหมิ่นเป่ยด้วย มีประชาชนราว 1.2% ใช้ภาษานี้

7. ภาษาถิ่นฮกเกี้ยนใต้ (闽南方言) มีภาษาถิ่นเซี่ยเหมินเป็นหลัก ภาษาถิ่นในกลุ่มนี้ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คือ ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาถิ่นฮกเกี้ยนใต้นิยมใช้ทางแถบใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน บางพื้นที่ทางแถบตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง และในหมู่เกาะไห่หนัน (ไหหลำ) รวมถึงไต้หวัน
8. ภาษาถิ่นกวางตุ้ง (粤方言) มีภาษาถิ่นกว่างโจวเป็นหลัก นิยมทางแถบมณฑลกวางตุ้ง และทางตะวันออกเฉียงใต้ของกว่างซี รวมถึง ชาวจีนโพ้นทะเลบางส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนก็นิยมใช้ภาษาถิ่นกวางตุ้งด้วย รวมแล้วมีผู้ใช้ภาษาถิ่นกวางตุ้งราว 5%

นอกจากนี้ บางแหล่งยังรวมภาษาถิ่นพิง (平语方言) ซึ่งเป็นภาษาที่เป็นเกิดจากการรุกล้ำของภาษาถิ่นเหนือเข้าสู่เขตที่มีผู้ใช้ภาษาถิ่นใต้ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในเขตปกครองตนเองกว่างซี

โดย จินเย่ว์ถง จากกวงหมิงกวนฉา (光明观察)
หมายเหตุ : ข้อมูลเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ตัวอักษรจีนและภาษาถิ่น



ตัวอักษรจีนเป็นระบบตัวอักษรที่เก่าแก่และมีคนใช้มากที่สุดในโลกระบบหนึ่ง จากหลักฐานข้อมูลเท่าที่ขุดค้นพบได้ในปัจจุบันยืนยันว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี นับจากตัวอักษรเจี่ยกู่หรือตัวอักษรซึ่งสลักบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซาง ตัวอักษรเจี่ยกู่เป็นอักษรภาพเลียน(เซี่ยงสิงจื้อ) ทั้งยังเป็นตัวอักษรที่แสดงเสียงด้วย ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ตัวอักษรภาพเลียนจำนวนหนึ่งซึ่งแลดูพริ้วไหวเสมือนจริงในระบบตัวอักษรจีน



ปัจจุบันระบบตัวอักษรจีนแบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่ได้แก่ ระบบตัวเต็มและระบบตัวย่อ ระบบตัวเต็มเป็นระบบที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊าและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนระบบตัวย่อเป็นระบบที่ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย สิงคโปร์และกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าระบบการเขียนของสองระบบนี้จะต่างกัน แต่สำหรับตัวอักษรที่ใช้บ่อยนั้นมีจำนวนตัวอักษรที่แตกต่างกันไม่ถึง 25% นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีก็ได้รับเอาระบบตัวอักษรจีนไปใช้ในภาษาของตนตั้งแต่สมัยโบราณ ระบบตัวอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นเป็นระบบตัวอักษรที่ได้ถูกปรับย่อแล้ว แต่ก็มีตัวอักษรบางส่วนที่ยังคงวิธีการเขียนแบบอักษรจีนโบราณเอาไว้ ส่วนระบบตัวอักษรจีนในภาษาเกาหลีนั้นถือว่ามีวิธีการเขียนที่ใกล้เคียงกับวิธีเขียนแบบจีนโบราณมากที่สุด โดยทั่วไปตัวอักษรจีนหนึ่งตัวจะมีหลายความหมายและมีความสามารถในการประกอบคำสูงมาก ทั้งตัวอักษรบางตัวยังสามารถเป็นคำได้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ตัวอักษรจีนมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง การใช้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยเพียงประมาณ 2,000 ตัวก็สามารถครอบคลุมการใช้ตัวอักษรในภาษาเขียนได้มากกว่า 98% นอกจากนี้ตัวอักษรจีนยังมีลักษณะเฉพาะคือเป็นตัวอักษรที่แสดงความหมายและเสียง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรับสารโดยการอ่านตัวอักษรจีนสูงตามไปด้วย และเมื่อเทียบตัวอักษรจีนกับตัวอักษรระบบสะกดคำในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอักษรจีนจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า



ภาษาจีนเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต ในภาษาจีนมีภาษาถิ่นมากมาย ปัจจุบันได้มีจัดหมวดหมู่ของภาษาถิ่นต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นเขตภาษาถิ่น 7 เขตด้วยกัน ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้แก่ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอู๋(ภาษาถิ่นเจียงซูและเจ้อเจียง) ภาษาถิ่นเซียง(ภาษาถิ่นหูหนาน) ภาษาถิ่นกั้น(ภาษาถิ่นเจียงซี) ภาษาถิ่นจีนแคะ(ภาษาถิ่นฮากกา) ภาษาถิ่นเย่ว์(ภาษาถิ่นกวางตุ้ง)และภาษาถิ่นหมิ่นหนาน(ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน) ในบรรดาภาษาถิ่นทั้งเจ็ดนี้ ภาษาถิ่นเหนือเป็นภาษาถิ่นที่ชนชาติฮั่นใช้สำหรับสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน และถือเอาภาษาปักกิ่งเป็นตัวแทนของภาษาถิ่นเหนือ โดยภาษาถิ่นเหนือทุกภาษาจะมีเอกภาพทางโครงสร้างภาษาค่อนข้างสูง พื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือในการสื่อสารกินเนื้อที่กว้างที่สุดเมื่อเทียบกับภาษาถิ่นอื่นๆ ประชากรที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือมีราว 73% ของประชากรทั่วประเทศ ส่วนภาษาถิ่นที่เหลือ 6 ภาษาจะใช้สื่อสารกันทางภาคใต้ของจีน หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ต่างๆ จะใช้ภาษาถิ่นต่างกัน ดังนั้นผู้คนต่างถิ่นฐานกันก็มักจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ทว่า ระบบตัวอักษรที่ประชาชนทั่วประเทศจีนใช้นั้นเหมือนกันทุกประการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบตัวอักษรของภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนมีความเป็นเอกภาพสูง ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงถือว่าเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาจีน

เครดิต http://thai.cri.cn/learnchinese/lesson08/img/1.jpg

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ภาษาจีนกว่าจะมาถึงยุคเรา

ปฐกถาเปิด

ยุคสมัยของเราเป็นยุคสมัยที่การเปลี่ยนแปลงเต็มไปด้วยแรงเหวี่ยงที่ทั้งแรงและเร็ว จนกระทั่งเชื่อกันว่า ใครที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะตกยุคตกสมัย หรืออาจแม้แต่ตกเป็นเหยื่อเอาเลยก็ว่าได้ ในบรรดาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่แรงและเร็ว มักจะมีภาษาจีนอยู่เป็นส่วนหนึ่งเสมอ ทุกวันนี้เรื่องของภาษาจีนมักจะเป็นหัวข้อที่ขาดไม่ได้ สำหรับวงอภิปรายหรือสนทนาของหลายวงการ แต่ละวงก็มีตั้งแต่หน่วยสังคมที่เล็กที่ในระดับครอบครัว จนถึงหน่วยที่ใหญ่ที่สุดคือระดับชาติ
ทำไมภาษาจีนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย? คำถามนี้แทบจะไม่ต้องตอบกันก็ว่าได้ เพราะลำพังปรากฏการณ์การดำรงอยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลในสังคมไทยเพียงเรื่องเดียวก็สามารถตอบคำถามที่ว่าได้อย่างยาวเหยียด แต่ถ้าถามใหม่ว่า ฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยเป็นอย่างไรจากอดีตจนถึงยุคสมัยของเราแล้ว คำตอบอาจแตกประเด็นไปได้มากมาย ที่แน่ๆ คือ ไม่มีใครที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป
ดังนั้น หากจะกล่าวถึงภาษาจีนในยุคสมัยของเราแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องชี้ให้เห็นถึงฐานะของภาษาจีนในสังคมไทยอย่างเป็นด้านหลัก เพราะนั่นคือวิธีหนึ่ง (จากหลายๆ วิธี) ที่จะเข้าใจสภาพการดำรงอยู่ของภาษาจีนในสังคมไทยได้ดีขึ้นหรือเป็นระบบขึ้น ความเข้าใจนี้บางทีอาจช่วยให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และทิศทางที่พึงประสงค์ของภาษาจีนได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยของเรา



ภาษาจีนในยุคสมัยแรก

ไทยกับจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านานแล้ว มีหลักฐานที่ค้นพบใหม่ๆ ในหลายที่ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้นับพันปี แต่กระนั้น หากกล่าวในแง่ของความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่า มีมาตั้งแต่สมัยที่รัฐสุโขทัยเรืองอำนาจเรื่อยมาจนถึงสมัยรัฐอยุธยา และรัฐกรุงเทพฯ เรืองอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมมีการติดต่อกันไปมาระหว่างจีนและไทย โดยเฉพาะการเข้ามายังไทยของชาวจีนที่มีตั้งแต่ตัวแทนทางการทูต เจ้าหน้าที่ประจำเรือสำเภาที่มีตำแหน่งแตกต่างกันไปนับสิบตำแหน่ง รวมทั้งผู้ที่เป็นลูกเรือระดับล่าง ฯลฯ แม้เราจะไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง แต่ก็มีหลักฐานว่า ชาวจีนเหล่านี้มีจำนวนมากขนาดที่สามารถตั้งชุมชนอยู่กันในหมู่ตนเอง โดยเฉพาะที่อยุธยา
การเข้ามาของชาวจีนดังกล่าว ย่อมมีการนำภาษาจีนเข้ามาใช้ด้วยเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่น่าไปไกลถึงขั้นมีการสอนภาษาจีนกันขึ้น (อย่างน้อยก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเช่นนั้น) อิทธิพลของภาษา จีนในขณะนั้น จึงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่ไทยเราจำต้องทับศัพท์คำจีนบางคำ มาใช้ในชีวิตประจำ วันไปด้วย อย่างเช่นคำว่า “อับเฉา” (ของที่มีน้ำหนักมากสำหรับไว้ในท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงไม่ให้เรือโคลงเวลาแล่น ส่วนใหญ่มักเป็นตุ๊กตาหินจีน) หรือชื่อตำแหน่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่เรือสำเภาอย่างเช่น ไต้ก๋ง เป็นต้น คำจีนทำนองนี้มีอยู่หลายคำ จนบางคำชาวไทยเราเองอาจไม่รู้ว่ามีที่มาจากคำจีน เพราะฟังดูแล้วเหมือนเป็นภาษาไทย อย่างเช่นคำว่า “จันอับ” อันเป็นขนมประเภทหนึ่งของจีนที่นิยมใส่กล่องให้เป็นของกำนัล เป็นต้น
การปรากฏและดำรงอยู่ของภาษาจีนดังกล่าว คงไม่ได้เป็นไปอย่างเป็นทางการมากนัก ที่สำคัญก็คือว่า คำจีนเหล่านี้ไม่ได้ออกเสียงด้วยภาษาจีนกลาง แต่ออกเสียงโดยขึ้นอยู่กับชาวจีนที่นำภาษาจีนเข้ามาใช้ในไทย ว่าจะใช้ภาษาจีนสำเนียงไหนหรือท้องถิ่นไหน การที่ภาษาจีนไม่ได้ถูกใช้เป็นภาษาจีนกลางนี้ ต่อมาจะส่งผลต่อการใช้ภาษาจีนในไทยอยู่พอสมควร (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)
อย่างไรก็ตาม ภาษาจีนได้ถูกนำมาสอนในสังคมไทยก็ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือในสมัยกรุงเทพฯ โดยหลักฐานระบุแต่เพียงว่า มีการสอนกันที่ “เกาะเรียน” จังหวัดอยุธยา ซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าตั้งอยู่ที่ไหนในอยุธยา และสอนกันอย่างไร หรือสอนด้วยภาษาจีนกลางหรือภาษาจีนท้องถิ่น หรือใครคือผู้เรียน แต่การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นมานี้ สามารถชี้ให้เห็นในระดับหนึ่งว่า ชาวจีน (ไม่น่าจะมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย) เริ่มคิดแล้วว่า ภาษาจีนมีความจำเป็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง หรือไม่ก็ให้ลูกหลานจีนสามารถสืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไปได้ เพราะภาษาเป็นหัวใจในการสืบทอดที่สำคัญไม่ว่าจะในสังคมไหนก็ตาม
การที่เกิดการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้นในสังคมไทยดังกล่าว น่าเชื่อว่า เป้าหมายหลักคงอยู่ที่คนที่เป็นลูกหลานจีนเสียมากกว่า ด้วยว่าในสมัยต่อๆ มา คือ สมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 นั้น ชาวจีนเริ่มที่จะลงหลักปักฐานอยู่ในไทยแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ลูกหลานจีนจึงเกิดตามมา ถึงตอนนี้หากชาวจีนต้องการที่จะให้ลูกหลานของตนสืบทอดวัฒนธรรมจีนต่อไป ชาวจีนก็มีทางเลือกให้แก่ตนอยู่ 2-3 ทางต่อไปนี้
หนึ่ง ส่งลูกหลานของตนกลับไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน ในกรณีนี้ชาวจีนผู้นั้นคงต้องมีฐานะดีพอสมควร หรือไม่ก็ต้องเก็บหอมรอมริบนานไม่น้อย จึงจะทำได้ สอง ส่งเสียให้ลูกหลานของตนเรียนภาษาจีนในเมืองไทย ในกรณีนี้หมายความว่าจะต้องมีการเปิดสถานศึกษาขึ้นมาในเมืองไทย รูปแบบของสถานศึกษาจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และสาม ปล่อยลูกหลานของตนไปตามบุญตามกรรมหรือตามฐานะที่เป็นจริง ในกรณีนี้ปรากฏว่า มีลูกหลานจีนจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แน่นอนว่า ประเด็นของเราอยู่ตรงทางเลือกที่สอง นั่นคือ ในที่สุดสถานศึกษาที่สอนภาษาจีนก็มีขึ้นมาในเมืองไทย
กล่าวกันว่า แรกเริ่มที่มีสถานศึกษาสอนภาษาจีนนั้น รูปแบบโดยมากมักเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ คือชาวจีนร่วมกันจ้างครูจีนมาสอน และที่ว่าร่วมกันนั้นคือ ร่วมกันโดยกระจายออกไปตามกลุ่มสำเนียงพูดของภาษาถิ่นเสียมากกว่า สำเนียงพูดที่ว่าคือ สำเนียงจีนแต้จิ๋ว (เฉาโจว) จีนกวางตุ้ง (กว่างตง) จีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) จีนฮากกาหรือจีนแคะ (เค่อเจีย) และจีนไหหลำ (ไห่หนาน) ทั้งนี้จีนแต้จิ๋วเป็นสำเนียงพูดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนที่จะมีการสอนด้วยสำเนียงจีนกลางนั้นหาน้อยมาก
สถานศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางการนี้ต่อมาได้ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้น จนสามารถตั้งเป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนได้เป็นจำนวนมากๆ ที่น่าสนใจก็คือว่า โรงเรียนเหล่านี้ต่างก็สอนวิชาต่างๆ ด้วยภาษาจีนทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้หากกล่าวเฉพาะคุณภาพของภาษาแล้ว ก็ย่อมจัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ หากเราเข้าใจว่าโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบัน คือโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาต่างชาติ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) แล้ว โรงเรียนจีนเหล่านี้ก็น่าจะถูกจัดเป็นโรงเรียนนานาชาติกลุ่มแรกในไทยก็ว่าได้
โรงเรียนจีนเหล่านี้คงเปิดสอนเป็นปกติเรื่อยมา ตราบจนสมัยรัชกาลที่ 6 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น โดยในรัชสมัยนี้รัฐบาลไทยได้ให้โรงเรียนจีนไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายแก่การควบคุม แน่นอนว่า แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งที่รัฐบาลไทยทำนั้นเป็นการจัดระเบียบ ซึ่งที่ไหนๆ ก็ทำกันโดยทั่วไป แต่ในกรณีโรงเรียนจีนนี้มีเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงเข้ามาพัวพันอยู่ด้วย เพราะเวลานั้นชาวจีนในไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาททางการเมือง ด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติสาธารณรัฐในจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า การเมืองในลักษณะที่ว่านี้มีอุดมการณ์ต่างกับอุดมการณ์ของรัฐไทย ที่ในขณะนั้นยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ดังนั้น จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นำรัฐบาล (ไม่ว่าชาติไหน) ย่อมหาทางควบคุมหรือไม่ก็ปราบปราม
ควรกล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ดี หรือการขยายตัวของชาวจีนก็ดี รัฐบาลในขณะนั้นพยายามหาหนทางในการจัดการหลายทางด้วยกัน มีทางหนึ่งที่เสนอโดยกรมหลวง เทววงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งว่า หากจะจัดการกับชาวจีนให้ได้ผลแล้ว หนทางที่ดีที่สุดก็คือ การทำให้ชาวจีนถูกตัดขาดจากภาษาจีน จะเห็นได้ว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่มองว่า ภาษาคือพลังสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมจีน (หรือวัฒนธรรมอื่นใดก็ตาม) สามารถสืบทอดต่อไปได้ แต่กระนั้น หนทางนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อยู่ดี และกว่าจะมีการนำมาใช้เวลาก็ล่วงเลยอีกนับสิบปีต่อมา
ด้วยเหตุนี้ แม้จะถูกจัดระเบียบแล้วก็ตาม โรงเรียนจีนเหล่านี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบในด้านหลักสูตรที่ใช้สอนอยู่แต่อย่างใด ที่เคยสอนกันมาอย่างไรก็ยังคงเป็นไปตามนั้น ตราบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นใน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ฐานะของภาษาจีนจึงถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน



ภาษาจีนในยุคสมัยแห่งความยุ่งยาก

ยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนี้เป็นผลจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกโดยแท้ กล่าวคือ เป็นผลจากการที่ได้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา อุดมการณ์เหล่านี้ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นเพราะต้องการจะตอบโจทย์การพัฒนาของแต่ละประเทศ อุดมการณ์ที่เด่นๆ เหล่านี้ก็เช่น อุดมการณ์เผด็จการหรือฟาสซิสต์ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์เหล่านี้มีผลในการท้าทายอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยโดยตรง
ไทยเราเองก็หนีไม่พ้นการท้าทายดังกล่าว และผลก็เป็นดังที่เรารู้กัน นั่นคือ สังคมไทยถูกเลือกให้ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยผ่านการปฏิวัติในปี ค.ศ.1932 แต่ก็เช่นเดียวกับการปฏิวัติในที่อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น การแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำในระบอบเก่ากับระบอบใหม่ หรือระหว่างผู้นำในระบอบใหม่ด้วยกันเอง เป็นสิ่งที่ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ดูจะพิเศษไปกว่าในที่อื่นๆ ก็ตรงที่ว่า กรณีของไทยนั้นยังได้พ่วงเอาบทบาทของชาวจีนเข้ามาด้วย
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในที่นี้จะขอแบ่งอธิบายความยุ่งยากในยุคสมัยนี้ ผ่านสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ดังนี้
หนึ่ง สังคมไทยต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทย ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โดยเนื้อหาทางอุดมการณ์แล้วย่อมไปด้วยกันไม่ได้กับสังคมไทยโดยพื้นฐาน การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นนับแต่ที่จีนได้มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นใน ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) ดังนั้น รัฐบาลไทยทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 จึงย่อมถือเป็นปฏิปักษ์ไปโดยอัตโนมัติ
สอง โดยเฉพาะช่วงกลางทศวรรษ 1920 เรื่อยมา ญี่ปุ่นได้กระทำการคุกคามจีนรุนแรงขึ้น ในกรณีนี้ได้ส่งผลให้ชาวจีนในไทยเกิดความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาด้วย และผลก็คือ ชาวจีนในไทยได้รวมตัวกันจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมา การต่อต้านนี้แสดงออกหลายด้านด้วยกัน เช่น ให้พ่อค้าจีนในไทยยุติการทำการค้ากับญี่ปุ่น ต่อต้านหรือทำร้ายชาวญี่ปุ่นในไทย ทำร้ายหรือเข่นฆ่าพ่อค้าที่เป็นชาวจีนด้วยกันเองที่ยังคงทำการค้ากับญี่ปุ่นโดยไม่ฟังคำเตือนของขบวนการ ฯลฯ การต่อต้านญี่ปุ่นยังคงเป็นไปตามนี้แม้หลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ไปแล้ว เพราะก่อนหน้านั้น 1 ปีคือ ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรีย ทำให้ชาวจีนทั้งในและนอกประเทศต่างไม่พอใจ และเมื่อสงครามจีนกับญี่ปุ่นปะทุขึ้นใน ค.ศ.1937 การต่อต้านญี่ปุ่นในไทยก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
จากความยุ่งยาก (ทางการเมือง) ดังกล่าว นับว่าได้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนในไทยอย่างมาก แต่กล่าวเฉพาะการปราบปรามเพื่อยุติการเคลื่อนไหวแล้ว โรงเรียนจีนในขณะนั้นนับเป็น “จำเลย” ที่เป็นรูปธรรมซึ่งชัดเจนที่สุด กล่าวคือ โรงเรียนจีนได้กลายเป็น 1 ในแหล่งซ่องสุมทางการเมือง ของขบวนการทางการเมืองของชาวจีนในไทย การซ่องสุมนี้มีทั้งของขบวนการคอมมิวนิสต์จีนในไทย (เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์) มีทั้งของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น หรือไม่ก็ของทั้งสองขบวนการรวมๆ กันไป
ผลก็คือ มีครูจีนจำนวนมากที่ถูกจับกุมและลงโทษ (ส่วนใหญ่คือเนรเทศ) ทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ค.ศ.1932 ครูเหล่านี้โดยมากแล้วอยู่ในขบวนการคอมมิวนิสต์จีนแทบทั้งสิ้น
แต่ที่กระทบต่อการเรียนการสอนภาษาจีนมากที่สุดนั้น เห็นจะไม่มีเหตุการณ์ใดจะหนักเท่าที่เกิดหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นอีกแล้ว นั่นคือ ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นโดยขบวนการชาตินิยมจีนในไทย ซึ่งมีทั้งที่มาจากฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์จีนและฝ่ายกว๋อหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) รัฐบาลไทยได้ทำการกวาดล้างครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1938 (หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นเกิดแล้วประมาณ 1 ปี) ผลของการ กวาดล้างไม่เพียงทำให้ครูจำนวนมากถูกจับกุมเท่านั้น หากที่สำคัญโรงเรียนจีนที่มีอยู่กว่า 200 แห่งทั่วประเทศต่างก็ถูกสั่งปิดไปด้วย
ครั้นพอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แกนนำชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนจีน ก็ได้ร้องขอต่อรัฐบาลให้อนุญาตให้เปิดโรงเรียนจีนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็ตอบสนองอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ แม้จะอนุญาตให้เปิดก็จริง แต่ก็บังคับไม่ให้มีการใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอนเกินไปกว่าร้อยละ 20 และที่ไม่เกินตามสัดส่วนที่ว่านี้ ในเวลาต่อมายังหมายถึงการจำกัดให้เรียนได้ไม่เกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 4หรือชั้นประถมศึกษาตอนต้นเท่านั้นอีกด้วย
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เงื่อนไขดังกล่าวได้ทำให้ข้อเสนอของ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 ถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาเป็นครั้งแรก และกลายเป็นปฐมบทของการทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทย เกิดข้อจำกัดทางด้านคุณภาพในเวลาต่อมา แต่หากกล่าวในมิติที่ลึกซึ้งลงไปแล้วเราก็จะพบว่า เงื่อนไขที่ว่านี้นับว่ามีส่วนอย่างมากในการแยกการเรียนการสอนภาษาจีน ให้ออกจากความเป็นจีน (Chineseness) ที่สำคัญคือ เป็นการแยกที่ติดข้างจะได้ผลอยู่ไม่น้อยเสียด้วย
กล่าวคือว่า ภายหลังจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นสิ้นสุดลง และตามติดมาด้วยการที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ในจีนได้รับชัยชนะเหนือกว๋อหมินตั่งในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) แล้ว ก็ตรงกับช่วงที่รัฐไทยได้เข้าสู่ยุคสมัยของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังและรุนแรง การใช้ภาษาจีนไม่ว่าในกาละเทศะไหน หรือดีหรือเลวมากน้อยเพียงใด ได้กลายเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ห่างไกลลูกหลานจีนออกไป จะมียกเว้นก็แต่ครอบครัวจีนที่มีฐานะดีหรือช่องทางดีเท่านั้น ที่อาจหาวิธีส่งเสียลูกหลานของตนให้ได้เรียนภาษาจีนในต่างประเทศ เช่นที่ฮ่องกง มาเลเซียหรือปีนัง ไต้หวัน หรือสิงคโปร์ เป็นต้น แต่มีบ้างเหมือนกันที่เสี่ยงส่งลูกหลานเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ (โดยผ่านทางฮ่องกง) ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า กำลังปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ 1 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่น้อย
ส่วนครอบครัวจีนที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ แต่ยังคงต้องการให้ลูกหลานของตนมีความรู้ภาษาจีนดีกว่าชั้นประถมสี่นั้น หนทางที่เหลือก็คือ การให้ลูกหลานไปเรียนพิเศษภาษาจีนหลังเลิกเรียนจากโรงเรียน (ไทย) ซึ่งโดยทั่วไปมักเรียนกันวันละ 1 ชั่วโมง ซ้ำยังเป็นการเรียนที่ถือเป็นภาระของผู้เรียนโดยแท้ เพราะถ้าหากใจรักที่จะเรียนก็ไม่สู้ลำบากมากนัก แต่ถ้าใจไม่รักแล้ว การเรียนนั้นก็เท่ากับเป็นการฝืนใจตนเอง ซึ่งไม่เกิดผลดีแต่อย่างไร
สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่นานหลายสิบปี ดำรงอยู่แม้ภายหลังจากที่จีนกับไทยได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใน ค.ศ.1975 เรื่อยมา และกว่าที่ภาษาจีนจะถูกปลดปล่อยให้มีอิสระในการเรียนการสอนมากขึ้น เวลาก็ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ไปแล้ว จนถึงเวลานั้นสังคมไทยก็ตระหนักว่า ยุคสมัยแห่งความยุ่งยากได้ทำให้ภาษาจีนตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ใหม่เสียแล้ว กล่าวคือ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พบว่า มีลูกหลานจีน หรือที่เรียกกันใหม่ว่า “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ที่รู้ภาษาจีนนั้นมีน้อยมาก และที่รู้ดีก็มักคุ้นชินกับภาษาจีนท้องถิ่นและอักษรจีนแบบเก่า ในขณะที่การใช้ภาษาจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่มานานนับสิบปีก่อนหน้านั้นแล้ว
โดยสรุปก็คือว่า พอภาษาจีนในไทยหลุดออกจากยุคสมัยแห่งความยุ่งยากมาได้เท่านั้น ก็ต้องมาตกอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งเร็วและแรงในแทบทุกด้าน ซึ่งก็คือ ภาษาจีนในยุคสมัยของเรานี้เอง



ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา

จะว่าไปแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา เป็นภาษาจีนที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงภายในจีนโดยแท้ โดยเฉพาะตั้งแต่ที่เริ่มใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศใน ค.ศ.1979 เป็นต้นมา นโยบายนี้ทำให้จีนต้องเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยไม่ถือเอาความแตกต่างทางอุดมการณ์มาเป็นอุปสรรคอีกต่อไป และต่อนโยบายพัฒนาภายใน จีนก็เปิดที่ทางให้กับกลไกแบบทุนนิยม (ที่จีนเคยต่อต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู) ให้ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอีกด้วย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นปฏิปักษ์หรือระแวงสงสัยจีน คลายความกังวลไปได้ไม่น้อย โดยหลังจากนั้นไม่นาน ความกังวลที่หายไป ก็ถูกแทนที่ด้วยการเปิดต้อนรับจีนในฐานะมิตรประเทศ และเลิกต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “จีนคอมมิวนิสต์” ไปในที่สุด
แต่ก็ด้วยนโยบายที่ว่า ซึ่งทำให้จีนเติบโตอย่างเต็มกำลังไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม ผลเช่นนี้เองที่ทำให้ภาษาจีนได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกระตุ้นเตือน ให้เห็นถึงความสำคัญขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ จนกล่าวได้ว่า ทุกวันนี้แทบไม่มีหน่วยงานใดไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน ที่มองไม่เห็นความสำคัญของภาษาจีนอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนภาษาจีนที่ถูกกักขังอยู่ในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.4) มานานหลายสิบปี ก็ถูกปลดปล่อยออกมาในทศวรรษ 1990 เมื่อภาครัฐอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนกว้างไกลกว่านั้น และในระดับที่สูงกว่านั้น คือเปิดได้ทั้งในโรงเรียนภาครัฐและเอกชน และเปิดได้ถึงระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนที่เคยทำการเรียนการสอน “พิเศษ” แบบลักปิดลักเปิดตามบ้านยามสนธยาราตรี มาบัดนี้ก็ไม่ต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไป ตรงกันข้าม รัฐกลับอนุญาตให้เปิดอย่างเป็นกิจลักษณะและอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะมีกี่หลักสูตร กี่ชั้นเรียน หรือจำนวนผู้เรียนกี่มากน้อย ขอเพียงทำให้ถูกต้องตามระเบียบหรือกฎหมาย และมีกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเท่านั้น ก็สามารถทำได้ในฐานะโรงเรียนนอกระบบ อันเป็นภาคที่เคยมีบทบาทสำคัญในการอบรมบ่มเพาะภาษาจีน แก่ผู้เรียนที่จบแค่ชั้น ป.4 ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น และโดยไม่มีการประสาทวุฒิบัตรให้แก่ใครได้แม้แต่ใบเดียว ถึงแม้ผู้เรียนคนนั้นจะสามารถใช้ความรู้ภาษาจีนของตนจากการเรียน “พิเศษ” จนมีฐานะดีและมั่นคงไปตามๆ กันก็ตาม
การปลดปล่อยในทศวรรษที่ว่าน่าจะดูดีอยู่ไม่น้อย แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะด้วยวิบากกรรมความยุ่งยากในหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ภาษาจีนภายหลังถูกปลดปล่อย ต้องตกอยู่ในอาการงงงวยและง่อนแง่นอยู่ไม่น้อย และด้วยอาการที่ว่านี้จึงทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนโดยภาพรวมเป็นไปใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะหนึ่ง เป็นการเรียนการสอนที่ยังคงสืบทอดแนวทางที่เป็นมาแต่อดีต อีกลักษณะหนึ่ง เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งแสวงหาแนวทางใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
ในลักษณะแรกนั้น เราอาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาบางแห่ง ยังคงสอนการออกเสียงภาษาจีนผ่านระบบจู้อินฝูเฮ่า สอนผ่านตำราเรียนที่ไม่ได้ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนหลักสูตรที่ใช้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง สุดแท้แต่ว่าสถานศึกษาแห่งไหนจะเห็นว่าเหมาะสมแก่ผู้เรียน ฯลฯ ในลักษณะนี้สะท้อนให้ว่า ต่างคนต่างดำเนินการไปด้วยตนเองอย่างอิสระ
ส่วนในลักษณะหลังนั้น อาจเห็นได้จากการที่สถานศึกษาหลายแห่ง เลือกที่จะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอิน (pin-in) มีน้อยแห่งที่สอนทั้งสองระบบหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาบางแห่ง รวมเอาระบบจู้อินฝูเฮ่า เยล และเวดใจล์ส เข้าไปด้วย ถึงแม้ในชั้นปลายจะเน้นที่ระบบพินอินก็ตาม ส่วนตำราที่ใช้ก็เป็นตำราที่ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ เกี่ยวกับตำรานี้ยังพบอีกว่า สถานศึกษาหลายแห่งใช้ตำราที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสถานศึกษาแห่งนั้นๆ เลือกที่จะใช้ตำราจาก “มณฑล” ไหนของจีน ฉะนั้น เมื่อมองในแง่ของหลักสูตรแล้ว หลักสูตรจึงย่อมขึ้นอยู่กับตัวตำราไปด้วย ซึ่งโดยสรุปแล้วก็คือ หลักสูตรก็แตกต่างกันไป ฯลฯ
นอกจากสองลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องของการเรียนการสอนโดยตรงแล้ว การใช้ภาษาจีนในหมู่ผู้รู้ภาษาจีน (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) หรือผู้ที่จะต้องสัมผัสกับภาษาจีน (โดยที่ไม่รู้ภาษาจีน) ในชีวิตประจำวัน ก็ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า การใช้ภาษาจีนในไทยนั้นเป็นการใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ และใช้ภาษาจีนกลางเป็นส่วนน้อย ฉะนั้น ภายหลังจากที่ภาษาจีนถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 ไปแล้ว ภาษาจีนกลางที่เข้ามามีบทบาทในการใช้มากขึ้น จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงการใช้แบบเดิมไปได้ง่ายๆ
ทั้งนี้ยังไม่นับการใช้อักษรจีนตัวเต็ม (ฝานถี่จื้อ) ที่ยังคงปรากฏว่ามีการใช้มากกว่าอักษรตัวย่อ (เจี๋ยนถี่จื้อ) ที่ทางจีนแผ่นดินใหญ่ได้ทำการ “ปฏิรูป” ไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัวอักษร2 โดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนนั้นจะเห็นได้ชัด นัยสำคัญของประเด็นนี้ก็คือว่า อักษรตัวย่อที่จีนปฏิรูปนั้น จีนเลือกเอาตัวอักษรที่มักใช้กันในชีวิตประจำวันเป็นลำดับแรก ด้วยเหตุนั้น การไม่รู้จักอักษรตัวย่อจึงไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ผู้ใช้ภาษาจีนมากนัก (อย่างน้อยก็ในระยะยาว) ในทางตรงข้าม หากผู้ใช้คนใดที่รู้ทั้งตัวย่อและตัวเต็ม ก็ต้องนับว่าได้เปรียบผู้ใช้ที่รู้แต่เพียงแบบใดแบบหนึ่ง 3
ผลที่เกิดจากอาการงงงวยและง่อนแง่นจากที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวมาอีกไม่น้อย แต่ก็ด้วยผลที่ว่านี้เองที่นำมาซึ่งเสียงบ่นของผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากภาษาจีนโดยตรง ว่าคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยยังไม่อาจสนองตอบได้อย่างที่ต้องการ เสียงบ่นเหล่านี้มีให้ได้ยินเป็นรูปธรรมอยู่เสมอ เช่น บ้างก็บ่นว่าความรู้ภาษาจีนของผู้เรียนยังไม่สูงพอที่จะนำมาใช้งาน บ้างก็บ่นว่าผู้เรียนสู้อุตส่าห์เรียนจบระดับปริญญาจนสามารถ “อ่าน” ภาษาจีนได้ดีนั้น แต่กลับไม่รู้เรื่องราวความเป็นไปในจีน บ้างก็บ่นว่าผู้เรียนแม้จะเรียนสูง แต่ความรู้นั้นกลับไม่สามารถสนองตอบต่องานของตนที่จำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะด้าน ฯลฯ
ในที่สุด ผลที่ว่าก็นำมาซึ่งความวิตกกังวลของผู้ที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากภาษาจีน ว่ายังคงสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจกระทบต่อการแข่งขันในการพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งก็คือผลกระทบที่มีต่อส่วนรวมของสังคมไทยเราเอง
เกี่ยวกับประเด็นคุณภาพภาษาจีนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีเรื่องที่พึงทำความเข้าใจด้วยว่า แม้จะเป็นความจริงที่ภาษาจีนในไทยมีคุณภาพสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ก็ตาม แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผลจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านโดยแท้ พัฒนาการของไทยก็คือประเด็นปัญหาต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในขณะที่พัฒนาการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติจนดูว่าไร้อิสรภาพนั้น เอาเข้าจริงแล้วชาติอาณานิคมก็หาได้ห้ามหรือจำกัดการเรียนการสอนภาษาจีน ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ไปด้วยไม่ ด้วยเหตุนี้ ผลทางคุณภาพจึงเป็นดังที่เราเห็น
จะอย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาให้รอบคอบแล้วก็จะพบว่า ปัญหาภาษาจีนในไทยหลังจากที่ถูกปลดปล่อยในทศวรรษ 1990นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย หากคือ การที่เราพึงยอมรับร่วมกันว่าภาษาจีนจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจะเริ่มต้นใหม่ได้ดี เราก็ต้องสลัดอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน และการที่จะสลัดได้นั้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า อาการงงงวยได้บอกอะไรแก่เรา?
จะว่าไปแล้วอาการงงงวยและง่อนแง่นดังกล่าวได้บอกให้เรารู้ว่า ภาษาจีนในยุคสมัยของเรานั้น ได้ห่างออกจากความเป็นจีนจากที่เคยมีเคยเป็นมาแต่เดิมแล้วนั่นเอง
กล่าวคือ ภาษาจีนนับแต่ยุคสมัยแรกเริ่มจนถึงยุคสมัยแห่งความยุ่งยากนั้น เป็นภาษาจีนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่จะให้ลูกหลานจีน (ในสมัยนั้น) สามารถสืบทอดและดำรงความเป็นจีนเอาไว้ แต่ภายหลังจากที่ผ่านวิบากกรรมมามากมาย จนได้รับการปลดปล่อยในทศวรรษ 1990 แล้ว เราก็พบว่า หลายสิบปีของวิบากกรรมนั้น ลูกหลานจีนได้ถูกกลืนกลายจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้วไม่น้อย คือหากไม่เปลี่ยนจากการเป็นลูกหลานจีนมาเป็น “ชาวไทยเชื้อสายจีน” ก็เป็น “ชาวไทย” ไปจนกู่ไม่กลับ
สิ่งที่ต่างกันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีนกับชาวไทยก็คือว่า กลุ่มแรกอาจมีความเป็นจีนหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะความรู้ภาษาจีน (ถึงจะใช้ภาษาจีนท้องถิ่นก็ตาม) ในขณะที่กลุ่มหลังนั้นอาจจะมีเชื้อจีนหรือไม่มีก็ได้ แต่แทบไม่หลงเหลือความเป็นจีนอยู่เลย ส่วนที่คล้ายกันก็คือ ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตกมาพอๆ กัน
ผลก็คือ เมื่อ “ชาวไทย” กลุ่มนี้ต้องมาเป็นผู้เรียนภาษาจีน (หรือผู้สอนในบางกรณี) การเรียนของคนกลุ่มนี้จึงไม่มีโจทย์เกี่ยวกับความเป็นจีนเป็นตัวตั้ง หากแต่เรียนไปภายใต้โจทย์ใหม่ๆ มากมายหลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือ เพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทั้งเพื่อตัวเองหรือเพื่อหน่วยงานที่ค่อนข้างแน่นอน
ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ที่เลือกศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้เรียนภาษาจีนในสถานศึกษานอกระบบที่พบว่า ผู้เรียนต่างมาเรียนด้วยวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กระจายกันออกไปอย่างหลากหลายมากมาย เช่นมาเรียนเพื่ออยากจะดูหนังหรือละครจีนด้วยภาษาจีน เพื่ออ่านวรรณกรรมจีนได้โดยตรง เพื่อร้องเพลงจีน เพื่อสนทนากับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนจีน เพื่อติดต่องานกับคนจีนทั้งในเมืองไทยและในเมืองจีน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางวิชาชีพให้แก่ตนเอง เพื่อสนองตอบต่อนโยบายใหม่ๆ ของหน่วยงาน ที่เริ่มมีธุรกิจหรืองานราชการที่ต้องติดต่อกับจีน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่หรือบุพการี ตลอดจนเพื่อใช้สนทนากับคนรักที่เป็นชาวจีน หรือ “จีบ” ชาวจีนที่ตนหมายปอง ฯลฯ ส่วนที่เรียนเพื่อรักษาหรือสืบทอดความเป็นจีนนั้นมีเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก
ผลการศึกษานี้แม้จะเป็นเฉพาะกลุ่มโรงเรียนนอกระบบก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่า กลุ่มที่อยู่ในระบบก็คงไม่ต่างกันในแง่วัตถุประสงค์มากนัก ซึ่งนับว่าต่างก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจีนที่ห่างไกลออกไปในหมู่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเริ่มห่างจากความเป็นจีนออกไปนั้น มิได้หมายความว่า ความเป็นจีนที่เคยมีอยู่แต่เดิมจะสลายหายตามไปด้วยไม่ ตรงกันข้าม ความเป็นจีนเท่าที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบันกลับเป็นต้นทุนที่มีค่าไม่น้อย หากผู้เรียนและผู้สอนภาษาจีนรู้จักที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังการรู้อักษรจีนทั้งแบบตัวเต็มและแบบตัวย่อ ย่อมมีประโยชน์มากกว่าการรู้แบบเดียวดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้
การห่างไกลจากความเป็นจีนจากที่กล่าวมานี้เอง เมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่ง ภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงส่งผลดังที่ได้กล่าวมาในที่สุด และทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนการสอนภาษาจีนจะต้องเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสนองตอบต่อสถานการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากมาย และการเริ่มต้นที่ดีทางหนึ่งก็คือ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยอย่างจริงจัง
ประเด็นสำคัญที่ขอย้ำในที่นี้ก็คือว่า ผลจากอาการงงงวยและง่อนแง่นที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะหากเราเข้าใจถึงวิบากกรรมของภาษาจีนจากที่กล่าวมา เหตุฉะนั้น อาการที่เกิดขึ้นแก่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าไม่ดี อย่างน้อยอาการที่ว่าก็ทำให้เราต้องมาฉุกคิดได้ว่า เราจะแก้อาการนี้อย่างไร และเมื่อเราพบว่า การแก้ที่ดีประการหนึ่งก็คือ การเริ่มจากการวิจัย การวิจัยนี้เองที่จะโน้มนำให้ปัญหาต่างๆ ของการเรียนการสอนภาษาจีนถูกร้อยเรียงให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะพบได้เองว่า ปัญหาที่เป็นจริง (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริง) นั้นคืออะไร จากนั้นข้อแก้ไขก็จะทยอยออกมา
อย่างไรก็ตาม ข้อดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่เหลียวไปมองข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราได้เริ่มต้นใหม่ด้วยความอิสระ และโดยไม่จำเป็นต้องติดยึดกับความเป็นจีนดังเช่นอดีตอีกต่อไป เพราะข้อดีจากความอิสระนี้จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะเริ่มต้นอย่างไรก็ได้ บนความอิสระดังกล่าว ในที่นี้มีประเด็นที่ขอเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้


1. ความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ
ปัจจุบันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนในไทยได้มีความร่วมมือกับหลายๆ ฝ่าย บางแห่งก็ร่วมมือกับหน่วยงานของทางการจีน บางแห่งก็ร่วมมือกับไต้หวันหรือประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่บางแห่งก็ร่วมมือมากกว่าหนึ่งฝ่าย หรือไม่ก็ร่วมมือกับประเทศตะวันตก แต่โดยมากแล้ว จีนมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับไทยมากกว่าทุกๆ ฝ่าย ความร่วมมือเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน ประโยชน์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันย่อมมีอยู่ในตัว
ประเด็นก็คือ แม้ความร่วมมือจะเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่เราก็จะควรตระหนักอยู่เสมอว่า แต่ละประเทศแม้จะมีประสบการณ์หรือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีเลิศอย่างไร ข้อดีนั้นอาจชัดเจนในเรื่องทางเทคนิค และเป็นข้อดีที่เกิดบนประสบการณ์ที่มีพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกันไป ที่จะให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจพื้นฐานความเป็นไปของสังคมไทยโดยสมบูรณ์นั้น คงเป็นไปได้ยาก และคงไม่ดีไปกว่าคนไทย
เหตุดังนั้น ภายใต้ประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าว ถึงที่สุดแล้วเราต่างหากที่พึงพิจารณาได้เองว่า การเรียนการสอนในแนวทางใดที่เหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ก็มีแต่หนทางเดียวคือ ไทยเราควรที่จะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อถึงเวลาหนึ่งของความร่วมมือ เราก็ควรที่จะมีหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนตำราที่เป็นของเราเอง หากทำเช่นนี้ได้ไม่เพียงประโยชน์จะตกแก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ใช้ภาษาจีนโดยตรงเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังหมายถึงความอิสระในการกำหนดการใช้ภาษาจีน โดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม


2.การใช้ประโยชน์จากความเป็นจีน
แม้ชาวไทยส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จะห่างเหินจากความเป็นจีนไกลออกไปทุกที ความห่างเหินนั้นก็เป็นไปแต่โดยการสืบทอดในเชิงสายเลือดและวัฒนธรรมเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นจีนยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่น้อยในชีวิตประจำวัน ความเป็นจีนในหลายๆ ส่วน นับว่าเป็นต้นทุนที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ต้นทุนนั้นให้เกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
ต้นทุนจากความเป็นจีนที่ว่าก็เช่น การที่ไทยเราได้มีงานแปลวรรณกรรมหรือพงศาวดารจีน ไม่ว่าจะเป็นสามก๊ก เลียดก๊ก ไซฮั่น ตงฮั่น ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว ฯลฯ หรือการที่ชาวไทยเรายังมีโอกาสได้สัมผัสกับประเพณีจีน ผ่านเทศกาลต่างๆ ได้โดยตรง (ซึ่งในบางประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของภาษาจีนไม่ต่างกับไทยจะไม่มีปรากฏการณ์นี้ดำรงอยู่ หรือไม่ก็มีแต่น้อย) ต่างก็มีประโยชน์ในแง่ที่เป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวเรื่องจีนได้เป็นอย่างดี และเมื่อไปอ่านฉบับภาษาจีน หรือไปสัมผัสกับประเพณีจีนในปัจจุบันก็จะเข้าใจมากขึ้น หรือไม่ก็พบความแตกต่างมากขึ้น
ประโยชน์โดยตรงในแง่นี้มีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง การทำความเข้าใจความคิดความเชื่อของสังคมจีนได้ง่ายขึ้น และสอง การเพิ่มทักษะในการใช้ภาษาจีนให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน ถึงแม้ความเป็นจีนที่ยกตัวอย่างมาจะมีปัญหาตรงที่เป็นภาษาจีนท้องถิ่นก็ตาม ในประเด็นนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง อาจพิจารณาได้เองในแง่ของความเหมาะสม


3.ภาษาจีนกับภาษาไทย
แม้ทุกวันนี้การเรียนการสอนภาษาจีนจะสอนการออกเสียงผ่านระบบพินอินหรือระบบอื่นก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วในเวลาที่ใช้จริงก็คงหลีกเลี่ยงการออกเสียงผ่านอักขระไทยไปไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ภาษาไทยมีข้อดีอยู่เรื่องหนึ่งคือ ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์พอที่จะใช้กับภาษาจีนได้โดยไม่ขัดกัน (ไทยมี 5 เสียง จีนมี 4 เสียง) ตรงนี้นับเป็นประโยชน์ของภาษาไทยโดยแท้
ปัญหาที่ปรากฏอยู่ก็คือ การออกเสียงผ่านสระบางเสียงที่สัมพันธ์กับการออกเสียงควบกล้ำ เช่น การออกเสียงผ่านสระในตัวโรมันว่า uan ที่ยังมีความลักลั่นระหว่างการเป็นเสียงในตัวไทยว่า อวน กับ เอวียน (อว ควบกล้ำ) ดังจะเห็นได้จากคำว่า หยวน หากใช้เรียกชื่อสกุลเงินจีนแผ่นดินใหญ่แล้วก็มักจะใช้เช่นนั้น แต่ในหลายกรณีก็พบว่า หากเป็นชื่อบุคคลหรืออื่นๆ ที่ชาวไทยไม่คุ้นเคยแล้ว ผู้ใช้จะเขียนให้ออกเป็นว่า เยวี๋ยน ซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงจีนกลางมากกว่าเสียงแรก แต่ปัญหาคือ วิธีการเขียนอาจผิดหลักภาษาไทย
อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังมานี้ได้มีการนำเครื่องหมาย “ยมการ” กลับมาใช้ใหม่ โดยเครื่องหมายนี้จะถูกกำกับไว้หลังคำที่ออกเสียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เวลาเขียนจึงไม่ผิดหลักภาษาไทย อย่างเช่นชื่อของอดีตจักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งคือ กวางซี่ว์ นั้น ตัว ซี่ว์ หากมีเครื่องหมาย “ยมการ” กำกับ ก็จะเขียนได้โดยไม่ผิดหลักภาษา ปัญหาก็คือ ขณะนี้ซึ่งเป็นปี 2007 เครื่องหมายนี้ยังมีในโปรแกรมคอมพิวเตอร์น้อยมาก (ในที่นี้จึงขอแทนด้วยเครื่องหมายการันต์) เชื่อว่า ในอนาคตหากเครื่องหมายนี้ถูกใช้แพร่หลายแล้ว ความลักลั่นในการออกเสียงดังกล่าวน่าจะแก้ได้
แต่กระนั้น ปัญหาการทับศัพท์ไม่ได้มีเพียงที่ยกมา ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นอีกมาก และด้วยเหตุที่ปัญหานี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และการใช้ภาษาจีนอยู่ไม่น้อย การอภิปรายถกเถียงหรือศึกษาวิจัยจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมายังเห็นได้ว่า ต่างฝ่ายต่างทำไปอย่างอิสระ ฉะนั้น ถ้าทำได้อย่างเป็นเอกภาพโดยละมายาคติลงได้แล้ว อิสระที่ว่าก็จะเพิ่มพลังให้แก่คุณภาพภาษาจีนในไทยได้ไม่น้อย


4. ภาษาจีนกับความรู้เรื่องจีน
ปัญหาข้อหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาจีนในทุกวันนี้คือ การที่ความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีไม่ได้หมายรวมว่าจะต้องมีความรู้เรื่องจีนไปด้วย ซึ่งผิดไปจากความคาดหวังของผู้ที่ต้องการใช้ผู้รู้ภาษาจีนมาช่วยในกิจการงานของตน ปัญหานี้มาจากการเรียนการสอนภาษาจีนที่ยังขาดเอกภาพระหว่างความรู้ในทางภาษาศาสตร์กับความรู้ในทางจีนศึกษา (Chinese Studies) หรือจีนวิทยา (Sinology)ความรู้ในเชิงภาษาศาสตร์ยังไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะแทบทุกสถานศึกษามักจะต้องให้ความรู้ด้านนี้เป็นปกติอยู่แล้ว เหตุฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยู่ตรงคำถามที่ว่า ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากอะไร เช่น เป็นเพราะตัวผู้เรียนไม่ใส่ใจต่อความรู้ทางด้านจีนศึกษาหรือจีนวิทยา หรือเป็นเพราะตัวหลักสูตรไม่เอื้อ หรือไม่เปิดพื้นที่ให้กับความรู้ทางด้านที่ว่า การพบสาเหตุของปัญหาน่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่น้อย
อนึ่ง ความคาดหวังเกี่ยวกับความรู้ในทางจีนศึกษาหรือจีนวิทยาที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหานั้น มิใช่ความคาดหวังที่เล็งผลเลิศแต่อย่างใด แต่เป็นความคาดหวังในระดับพื้นๆ ที่ต่างก็เชื่อว่า ผู้ที่มีความรู้ภาษาจีนดี น่าที่จะมีความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องจีนพอสมควร เช่น รู้ว่าผู้นำจีนคนปัจจุบันชื่ออะไร หรือคนชื่อ ซุนยัตเซ็น เหมาเจ๋อตง หรือ เติ้งเสี่ยวผิง คือใคร มีความสำคัญต่อจีนอย่างไร หรือนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นอย่างไร และส่งผลเช่นใด เป็นต้น แต่ความจริงก็คือว่า ความคาดหวังในระดับพื้นๆ เช่นนั้นกลับไม่ปรากฏ
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของประเด็นนี้กลับไม่ได้อยู่ตรงความคาดหวังว่าพึงมีสูงหรือต่ำ มากหรือน้อยแค่ไหน หากอยู่ตรงที่ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้รู้ภาษาจีน มีความรู้เรื่องจีนในลักษณะที่เป็นองค์รวม (holistic) อย่างแท้จริง คือไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบหรือเข้าใจโจทย์เรื่องจีนอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่รู้เรื่องจีนแต่เฉพาะที่จะทำให้ตนมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น
แท้ที่จริงแล้ว ความรู้ในเรื่องจีนหรือเรื่องของเพื่อนบ้านประเทศอื่นใดก็ตาม เรารู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจที่ดีต่อกัน ด้วยผลประโยชน์ที่พึงได้ร่วมกัน และด้วยสันติสุขร่วมกัน



ปฐกถาปิด

ภาษาจีนในยุคสมัยของเรา เป็นภาษาจีนที่มีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากในที่อื่นๆ ภายใต้เงื่อนปัจจัยภายในที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่แต่ละแห่ง แต่พัฒนาการเฉพาะของไทยนั้น มีส่วนไม่มากก็น้อยในการทำให้ภาษาจีนในยุคสมัยของเราเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งหากกล่าวสำหรับการเรียนการสอนแล้วก็คือ ยังไม่อาจเล็งผลเลิศได้อย่างที่หวังที่ต้องการ
ประเด็นที่นำเสนอในที่นี้ก็คือว่า การที่ภาษาจีนในยุคสมัยของเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจุดเริ่มแรกของภาษาจีนเมื่ออดีตนั้น มีเหตุผลมาจากความต้องการสืบทอดความเป็นจีนเอาไว้ และเมื่อความเป็นจีนกลายเป็นอุปสรรคในสายตาของผู้นำไทยในยุคหนึ่ง ภาษาจีนจึงถูกจำกัดขอบเขตลง ตราบจนเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี เมื่อภาษาจีนถูกปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่ง ภาษาจีนก็ตกอยู่ในสภาพที่จำต้องเริ่มต้นกันใหม่
หากเราเชื่อว่า ไม่มีการเริ่มต้นในเรื่องใดที่ไม่มีปัญหาแล้ว เราก็ควรเชื่อด้วยว่า การเริ่มต้นอย่างมีอิสระที่แท้จริงนั้น ย่อมนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่ดีๆ ได้ด้วยเช่นกัน
กล่าวสำหรับยุคสมัยของเราแล้ว ภาษาจีนได้พ้นห้วงแห่งวิบากกรรมมาอย่างแสนสาหัส (อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาจีนในการดำเนินชีวิตเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง) ไปแล้วก็จริง แต่เราก็มาพบว่า จุดเริ่มแรกในอดีตเกี่ยวกับความเป็นจีนไม่ใช่โจทย์สำคัญอีกต่อไป และโจทย์สำคัญในปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไรภาษาจีนที่ต้องเริ่มต้นใหม่นี้สามารถดำเนินไปได้โดยอิสระอย่างแท้จริง
กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ภาษาจีนในยุคสมัยของเราก็คือ ภาษาจีนที่ก้าวจากความเป็นจีนสู่ความเป็นไทนั่นเอง มีแต่การใช้ประโยชน์จากความเป็นไทที่ว่านี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเท่านั้น ภาษาจีนในยุคสมัยของเราจึงจะมีคุณภาพและสง่างามอย่างแท้จริง


เครดิตโดย http://www.thaiworld.org

ภาษาจีน

ความสำคัญของภาษาจีนกลาง

ถ้าหากมองถึงความสำคัญของภาษาจีนกลางแล้วนั้น ภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่สำคัญของทวีปเอเชียมาช้านาน เนื่องจากประเทศใหญ่หนึ่งในสองของทวีป ดังนั้นการบันทึกความรู้และวิทยาการต่างๆจึงเป็นภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ต่างๆ ทั้งขนาดของประเทศ จำนวนประชากร การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหนึ่งของเอเชียที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้กับภาษาจีนกจีนเป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งลางเป็นอย่างมาก การที่คนต่างประเทศอย่างเช่นคนไทยมีโอกาสที่จะศึกษาภาษาจีนกลางแล้วนั้น ย่อมถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทั่วไปแล้ว เราสามารถใช้ภาษาเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆทั้งในระดับบุคคล และระดับประเทศ เช่น การศึกษาความรู้วิทยาการ การประกอบธุรกิจการลงทุน และการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

ในปี 2004 เศรษฐกิจของจีนใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แนวโน้มนี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประเทศจีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นทุกขณะ ภาษาจีนกำลังจะกลายเป็นภาษาสากลของโลก เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ
ในการค้าระดับโลก การได้เห็นฝรั่งพูดภาษาจีนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว สำหรับเมืองไทยผลกระทบของจีนต่อประเทศมีมากขึ้นทุกขณะ เราจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เราจะเข้าใจจีนได้ด้วยการเริ่มต้นเรียนรู้ ภาษาและวัฒนธรรมจีน
ลักษณะของภาษาจีน

แม้ว่าภาษาจีนจะมีความหลากหลายของสำเนียงซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามภูมิภาค แต่ภาษาจีนก็มีความเป็นเอกภาพอยู่ในตัว นั่นคือ ตัวอักษรจีน ตัวอักษรจีน เป็นตัวอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากภาพ หรือถ้ามองอย่างนักศิลปะแล้ว ก็คือ หนึ่งตัวอักษรก็คือหนึ่งภาพนั่นเอง เพื่อความเป็นเอกภาพของประเทศ ทางรัฐบาลจีนจึงกำหนดให้ภาษาจีนกลาง หรือที่ชาวต่างชาติเรียกว่า แมนดาริน เป็นภาษากลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แม้ว่าในประเทศไทยจะมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภาษาที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปนั้นเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกวางตุ้ง ภาษาจีนไหหลำ ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแคะ ซึ่งทั้งหมดล้วนถือเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวจีนในปัจจุบัน ดังนั้นชาวต่างชาติที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับชาวจีนในปัจจุบัน หรือนักเรียนที่ต้องการเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศจีนจึงควรเลือกศึกษาภาษาจีนกลาง


รูปแบบการเรียนการสอน

มีคนจำนวนมากกล่าวว่าการเรียนภาษาจีนนั้นยากกว่าการเรียนภาษาอังกฤษ ในทางกลับกันมีคนจำนวนมากที่สามารถเรียนภาษาจีนกลางได้ และนำภาษาจีนกลางมาใช้ในชีวิตประจำวัน การศึกษาต่อระดับสูง จนถึงการทำงาน เราสามารถมองเห็นว่าการที่แต่ละคนสามารถเรียนภาษาจีนกลางได้ หรือไม่ได้นั้น น่าจะมาจากหลายปัจจัย แต่ก็มีหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ และสามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ คือ รูปแบบและวิธีการเรียนการสอนการเรียนการสอนภาษาจีนกลางในรูปแบบเดิมๆที่ยังคงใช้กันอยู่ คือ การเรียนแบบเน้นการท่องจำ เมื่อนักเรียนท่องได้ ก็สามารถที่จะใช้ภาษาได้ เมื่อไรก็ตามที่ผู้เรียนเลิกท่องจำก็จะลืมโดยอัตโนมัติ แม้ว่าการเรียนภาษาแบบท่องจำถือเป็นวิธีหนึ่งที่ควรใช้ แต่เพื่อจะให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มวิธีการเรียนการสอนที่ทันสมัย และใกล้เคียงกับการใช้ภาษาโดยธรรมชาติด้วยเนื่องจากผู้เรียนภาษาจีนกลางจำนวนมากเมื่อเลิกเรียนแล้ว ไม่มีโอกาสฝึกฝนความรู้ ความรู้ที่ได้เรียนจึงหายไป ดังนั้นเพื่อให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จกับการเรียนภาษาจีนกลางนั้น ทางศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพยายามพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาจีนกลางแนวใหม่ โดยนำวิธีการเรียนแบบเก่าที่ทรงคุณค่า ผนวกกับการเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ การเรียนภาษาอย่างมีความสุข และการเรียนวิทยาการและวัฒนธรรมของประเทศเจ้าของภาษาไว้ด้วยกัน
เครดิตโดยhttp://www.whenifallinlove.net/diary/diary.php?Nu_Noon_Za:19:3:2007:270583

10 ภาษาที่ใช้พูดกันมากที่สุดในโลก

1.) ภาษาแมนดาริน (จีนกลาง) ประมาณ 460,000,000 คน
2.) ภาษาอังกฤษ ประมาณ 250,000,000 คน
3.) ภาษาสเปน ประมาณ 140,000,000 คน
4.) ภาษารัสเซีย ประมาณ 130,000,000 คน
5.) ภาษาเยอรมัน ประมาณ 100,000,000 คน
6.) ภาษาอาราบิค ประมาณ 95,000,000 คน
7.) ภาษาญี่ปุ่น ประมาณ 80,000,000 คน
8.) ภาษาเบงคารี (ปากีสถาน-อินเดีย) ประมาณ 75,000,000 คน
9.) ภาษาปอร์ตุเกส ประมาณ 75,000,000 คน
10.) ภาษาอูรดู (ปากีสถาน-อินเดีย) ประมาณ 75,000,000 คน
เครดิตโดย http://www.baanjomyut.com/library/miscellary/10_language.html